โดยที่กองทัพบกได้พิจารณาเห็นเป็นการสมควรที่จะให้การศึกษาแก่นายทหารสัญญาบัตรที่ได้เลือกแล้วในหน้าที่ ผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการชั้นสูง ในกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม กองทัพบกจึงได้ออกคำสั่ง แต่งตั้งกรรมการร่างระเบียบและหลักสูตร สำหรับวิทยาลัยการทัพบกขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2499 การประชุมของคณะกรรมการ ฯ เมื่อ 12 และ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องชื่อของวิทยาลัยและการจัดหลักสูตร ในเรื่องชื่อของวิทยาลัย คณะกรรมการ ฯ ได้กำหนดชื่อในขั้นนี้ไว้ว่า “วิทยาลัยยุทธนาธิการทหารบก” ส่วนหลักสูตรของวิทยาลัย คณะกรรมการ ฯ ได้พิจารณาวางแนวและกรอบกว้าง ๆ ตลอดจนวิธีดำเนินการศึกษา โดยสอดคล้องกับภารกิจของวิทยาลัย โดยเทียบเคียงกับหลักสูตรของ Army War College ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา
กองทัพบกได้เร่งรัดงานมาทางคณะกรรมการร่างระเบียบและหลักสูตร ฯ ในเรื่องการจัดส่วนราชการวิทยาลัยการทัพบก ทั้งนี้เพื่อให้สามารถประกาศออกทางพระราชกฤษฎีกาได้ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 และทางระเบียบกระทรวงกลาโหมในดับถัดไป ซึ่งประธานกรรมการ ฯ ก็ได้เสนอรายงานไปยังกรมยุทธการทหารบกโดยทันตามกำหนดเวลา
หลังจากได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบกในกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2500 ออกมาแล้ว กองทัพบกจึงได้เริ่มบรรจุเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงานในวิทยาลัยการทัพบก โดยย้ายนายทหารเข้ามาในลำดับแรกจำนวน 2 นาย คือ
จากคำสั่งกระทรวงกลาโหมข้างต้น จึงนับได้ว่า พลตรี วิโรจน์ อินวะษา เป็นผู้บัญชาการคนแรกของวิทยาลัยการทัพบก และเนื่องจากวิทยาลัยการทัพบกยังไม่มีสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นของตนเองเลย การเริ่มงานในขั้นแรกนี้จึงได้อาศัยสถานที่และอุปกรณ์ของแผนกสารบรรณ กรมยุทธศึกษาทหารบก ไปพลางก่อน และงานส่วนใหญ่เป็นงานขอความสนับสนุนจากหน่วยเหนือในเรื่องสถานที่ และการบรรจุเจ้าหน้าที่ธุระการและอาจารย์
เมื่อ พลจัตวา เล็ก แนวมาลี มาดำรงตำแหน่งรักษาราชการผู้บัญชาการวิทยาลัยการทัพบก คงใช้ห้องทำงานเดิม (ส่วนหนึ่งของ บก.รร.สธ.ผส.สธ.กห. ตึกชั้นสองด้านคลองหลอดของกระทรวงกลาโหม) เป็นกองบัญชาการวิทยาลัยการทัพบกชั่วคราว บรรดาอาจารย์และเจ้าหน้าที่ธุรการที่ได้รับการบรรจุในระยะแรกได้ย้ายเข้าประจำทำงานในสถานที่แห่งเดียวกันนี้เมื่อ 14 เมษายน พ.ศ. 2501 เนื่องจาก รร.สธ.ทบ. (ชั้นสามด้านเหนือและด้านตะวันออกของกระทรวงกลาโหม) ได้ดำเนินการขนย้ายไปเข้าที่ตั้งใหม่ บริเวณสวนสนประดิพัทธ์ (เสร็จใน 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2501) วิทยาลัยการทัพบกจึงได้รายงานไปยังกองทัพบก ขอใช้สถานที่บางส่วนที่ รร.สธ.ทบ. ขนย้ายออกไปเป็นที่ตั้งประจำของวิทยาลัยการทัพบก แต่เนื่องจากกองทัพบกมีแผนที่จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสำนักงานของหน่วยราชการอื่นอยู่แล้ว วิทยาลัยการทัพบกจึงมิได้รับอนุมัติตามที่ขอ แต่อย่างไรก็ตามวิทยาลัยการทัพบกก็ได้รับอนุมัติ ให้ใช้สถานที่ส่วนหนึ่งเป็น บก. วิทยาลัยการทัพบกชั่วคราว เนื่องจากสถานที่คับแคบ ไม่เพียงพอที่จะให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดเข้าประจำทำงาน วิทยาลัยการทัพบกจึงเพียงย้ายเจ้าหน้าที่ธุรการบางส่วนมาเข้าที่ตั้งใหม่นี้เมื่อ 29 เมษายน พ.ศ. 2501
จากผลการประชุมแบ่งสรรสถานที่ทำงานของหน่วยราชการต่าง ๆ อันมี พลโท สุรจิตร จารุเศรณี รองเสนาธิการทหารบกและรักษาราชการแทนเสนาธิการทหารบกเป็นประธาน ฯ เมื่อ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 เวลา 1400 ได้มีการตกลงแลกเปลี่ยนสถานที่ทำงานกันระหว่างกองบัญชาการวิทยาลัยการทัพบก และโรงเรียนส่งกำลังบำรุงทหารบก (ชั้นสามด้านเหนือของกระทรวงกลาโหม) ซึ่งสถานที่แห่งใหม่นี้กว้างขวางกว่าสถานที่เดิม เจ้าหน้าที่และอาจารย์ได้เข้าประจำทำงานในที่ตั้งใหม่นี้เมื่อ 22 กรกฏาคม พ.ศ. 2501 วิทยาลัยการทัพบกได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็น บก. ตลอดมาจนกระทั่งได้รับคำสั่งจากกองทัพบกให้ย้ายมาอยู่ ณ หอวิวัฒนาการ กรมยุทธศึกษาทหารบก ซึ่งได้สร้างเสร็จและกระทำพิธีเปิดเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2502 เวลา 0900 วิทยาลัยการทัพบกได้ขนย้าย บก. มาเข้าที่ตั้งใหม่ (ชั้นล่าง ปีกด้านทิศใต้) เมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2502 เวลา 1000
พลจัตวา เล็ก แนวมาลี รักษาราชการผู้บัญชาการวิทยาลัยการทัพบก ได้ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มแรกเตรียมงานมุ่งที่จะเปิดการศึกษาชุดที่ 1 ให้ได้ในปี พ.ศ. 2502 โดยได้เขียนโครงการศึกษาประจำปีและหลักสูตรการศึกษา โดยแก้ไขปรับปรุงจากหลักการที่คณะกรรมการร่างระเบียบและหลักสูตรสำหรับวิทยาลัยการทัพบกวางไว้ ประกอบกับอาศัยแนวทางจากหลักสูตรของ Army War College ของสหรัฐเป็นหลัก และได้รายงานขออนุมัติไปยังกองทัพบกเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2501 ซึ่งกองทัพบกได้พิจารณาอนุมัติเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2501 ร่างระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยาลัยการทัพบก พ.ศ. 2501 ฉบับที่เสนอนี้ กรมยุทธการทหารบกได้ส่งเวียนให้กรมฝ่ายเสนาธิการต่าง ๆ ร่วมพิจารณาซึ่งก็ได้รับข้อคิดเห็นว่าควรแก้ไขให้รัดกุมยิ่งขึ้นในหลายประการ ซี่งต่อมาได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่ของกรมฝ่ายเสนาธิการและวิทยาลัยการทัพบกที่กรมยุทธการทหารบกเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2501 พิจารณาวางแนวของระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยาลัยการทัพบกในหลักการสำคัญ ๆ
ต่อมาวิทยาลัยการทัพบกได้เสนอร่างระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยาลัยการทัพบกที่ได้แก้ไขปรับปรุงแล้วไปยังกรมยุทธการทหารบกอีกเมื่อ 23 กันยายน พ.ศ. 2501 และเพื่อให้เป็นการรวดเร็วยิ่งขึ้น วิทยาลัยการทัพบกได้สำเนาร่างระเบียบนี้เสนอไปยังกรมฝ่ายเสนาธิการต่าง ๆ ขอให้กรมฝ่ายเสนาธิการแสดงข้อคิดเห็นแล้วส่งข้อคิดเห็นนั้น ๆ ไปยังกรมยุทธการทหารบก ในระยะเวลาเดียวกันนี้วิทยาลัยการทัพบกได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร ขอให้กรมศิลปากรได้ช่วยออกแบบเข็มวิทยะฐานะของวิทยาลัยการทัพบกให้ ซึ่งกรมศิลปากรได้ออกแบบมาให้จำนวน 8 แบบ วิทยาลัยการทัพบกได้เสนอแบบเข็มวิทยะฐานะนี้ไปยังกรมยุทธการทหารบกเพื่อพิจารณาเมื่อ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 นอกจากนี้วิทยาลัยการทัพบกยังขอให้กรมยุทธโยธาทหารบกออกแบบรูปเข็มวิทยะฐานะมาให้อีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ออกแบบมาให้จำนวน 8 แบบ กรมยุทธการทหารบกได้นำร่างระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยาลัยการทัพบกฉบับที่ได้แก้ไขแล้ว และรูปเข็มวิทยะฐานะทั้งสิ้นเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมฝ่ายอำนวยการ ณ หอประชุมกองทัพบกเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2502 เวลา 0900
สำหรับร่างระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยาลัยการทัพบกนั้น พลโท รัศมี รัชนิวัต ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายแผนและวิจัย มีความเห็นว่าควรแก้ไขให้รัดกุมยิ่งขึ้นอีกซึ่งท่านจะได้ติดต่อโดยตรงกับวิทยาลัยการทัพบกต่อไป ส่วนรูปเข็มวิทยะฐานะของวิทยาลัยการทัพบกนั้น เมื่อได้พิจารณากันแล้ว ที่ประชุมตกลงเลือกแบบ 6 อัน เป็นแบบของวิทยาลัยการทัพบก เป็นรูปเข็มวิทยะฐานะของวิทยาลัยการทัพบกสืบไป และให้ชื่อว่า “แสนยาธิปัตย์”
หลังจากที่ได้มีการหารือโดยตรงระหว่างผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายแผนและวิจัยและผู้บัญชาการวิทยาลัยการทัพบก แก้ไขปรับปรุงร่างระเบียบอีกเมื่อ 9 เมษายน พ.ศ. 2502 และ 15 เมษายน พ.ศ. 2502 แล้ว วิทยาลัยการทัพบกจึงได้เสนอร่างระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยาลัยการทัพบก พ.ศ. 2502 ไปยังกองทัพบกเมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2502 และผู้บังคับบัญชาได้ลงนามประกาศใช้เมื่อ 24 เมษายน พ.ศ. 2502 ในที่สุดวิทยาลัยการทัพบกก็พร้อมที่จะเปิดการศึกษาในชุดที่ 1 ได้ใน 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 โดยคำสั่งกองทัพบก ที่ 110/9063 ลง 24 เมษายน พ.ศ. 2502 เรื่องให้นายทหารเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทัพบก ชุดที่ 1
ทำเป็นรูปพระกรรภิรมย์เสนาธิปัตย์ สถิตเหนือหลังช้าง ประกอบวงจักร ส่วนกว้าง 3 เซนติเมตร สูง 6 เซนติเมตร ทำด้วยโลหะสีทอง ใช้ประดับที่กระเป๋าเสื้อเบื้องขวา การออกแบบเข็มแสนยาธิปัตย์เป็นความคิดของ ร้อยตรี ปรีชา บุญถึง ตำแหน่งประจำแผนกกองธุรการ วิทยาลัยการทัพบก ซึ่งศึกษาจบประกาศนียบัตรประโยควิชาชีพชั้นสูง แผนกวิจิตรศิลป์ (โรงเรียนเพาะช่าง) ที่ประชุมกรมฝ่ายอำนวยการ ณ หอประชุมกองทัพบก ได้ลงมติเลือกรูปเข็มวิทยะฐานะตามความคิดของ ร้อยตรี เดชา บุญถึง เป็นรูปเข็มวิทยะฐานะของวิทยาลัยการทัพบกเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2502 พุทธภาษัต “นตฺถิ ปัญญาสมา อาภา - แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี” ฯ พณ ฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้อันเชิญมามอบให้เป็นคำขวัญประจำวิทยาลัยการทัพบก เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2504 และวิทยาลัยการทัพบกได้ถือเป็นปรัชญาทางการศึกษาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน